Built to last องค์กรอมตะ

,

บังเอิญผมได้อ่านหนังสือ Good to great มาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมประทับใจมาก เลยค้นหาหนังสือที่เรียกได้ว่าเป็นปฐมบท ก่อนที่จะเกิดเป็น Good to great นั่นก็คือ หนังสือเล่มนี้ “Built to last” องค์กรอมตะ หนังสือเริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่าต้องการค้นหาว่าบริษัทใดบ้างที่จะสามารถอยู่ยืนยง เรียกได้ว่า อมตะ

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ แม้จะถูกเขียนมาก่อน แต่จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นภาคต่อของ Good to great ด้วยซ้ำครับ จากบริษัทที่ ดี เปลี่ยนเป็น ยิ่งใหญ่ และจากยิ่งใหญ่ จะอยู่ตลอดไปได้อย่างไร

วิธีการวิจัยของหนังสือเล่มนี้

ผู้เขียนได้ทำการรวบรวมรายชื่อของประธานบริษัทต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวนราวๆ 1700 บริษัท เพื่อทำการสอบถามว่าบริษัทใดบ้างที่จะอยู่ไปตลอด ไม่ล้มละลายไป โดยให้เสนอชื่อ (เหมือนการโหวต Ballon dor แหละครับ) ก็ได้มาประมาณ 20 บริษัท และได้ทำการศึกษาประวัติ และวิวัฒนาการความเป็นมาของบริษัทตั้งแต่เริ่มต้นด้วย เริ่มต้นกิจการอย่างไร ทำอย่างไรให้เติบโต ก้าวข้ามวิกฤติต่างๆ มาได้อย่างไร อาจจะมีคำถามว่า ทำไมต้องขุดลึกไปถึงอดีตของบริษัทด้วยนะ? คำตอบคือ ก็เพื่อให้รู้จักบริษัทมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เปรียบเสมือนว่า ถ้าเพื่อนๆ ไม่ได้ดูประวัติความเป็นมาเลย ก็เหมือนการดูการแข่งขันวิ่งมาราธอน เฉพาะ 30 วินาทีล่าสุด ซึ่งมันไม่ได้บ่งบอกความสามารถของบริษัททั้งหมด

วันนี้ผมมาขอสรุปเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันเลยนะครับ ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลให้บางบริษัทเป็นบริษัทที่ยืนยาว และบางบริษัทต้องล้มหายตายจากไป

เป็นผู้ประดิษฐ์เวลา ไม่ใช่ผู้บอกเวลา

ผมบอกตรงๆ ตอนแรกอ่านคำเปรียบเทียบของผู้เขียนนี้แล้ว งงมากๆ ไม่รู้เพื่อนๆ เป็นเหมือนผมมั้ย 55 ประเด็นหลักก็คือ บางบริษัทนั้นมีผู้บริหารที่เก่ง นำพาบริษัทเจริญเติบโตได้ดี แต่พอหมดวาระของผู้บริหารคนนี้แล้ว บริษัทก็ไม่สามารถไปต่อได้ เพราะไม่ได้มีรากฐานที่มั่นคง พึ่งพิงความสามารถเฉพาะบุคคลมากเกินไป ดังนั้น บริษัทที่จะอยู่ยืนยงได้ หรือที่หนังสือเรียกว่า “บริษัทแห่งวิสัยทัศน์” มีการวางรากฐานบริษัทให้มั่นคง เตรียมตัวหาผู้สืบทอดที่เหมาะสม จะทำให้บริษัทนั้นอยู่ยืนยงไปได้ตลอด

บริษัทแห่งวิสัยทัศน์ จะไม่ได้โฟกัสไปกับการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ พวกเขาจะสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งก่อน แล้วสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ แล้วผลิตภัณฑ์นั้นจะตามมาเอง

สิ่งสำคัญมากกว่า “กำไร”

แน่นอนว่าทำธุรกิจ ก็ต้องการผลกำไรครับ แต่กำไรบางอย่างเป็นกำไรที่ไม่ยั่งยืน การเติบโตที่ฉาบฉวย เน้นผลระยะสั้น จะทำให้บริษัทไม่สามารถยืนระยะได้ในระยะยาว ผู้เขียนเปรียบเทียบได้เห็นภาพครับว่า กำไรเหมือนออกซิเจน ทำธุรกิจขาดกำไรไม่ได้ เหมือนคนขาดออกซิเจนไม่ได้ แต่เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อออกซิเจนหนิครับ ธุรกิจก็เช่นกัน ธุรกิจอยู่ได้ด้วยคุณค่าหลักขององค์กร แต่ต้องเป็นคุณค่าหลักที่สร้างผลกำไรควบคู่กันไปด้วย

เมอร์ก ได้พัฒนายาสำหรับรักษาโรคร้ายในประเทศด้อยโอกาส แต่ในเมื่อรัฐบาลของประเทศเหล่านั้น ไม่ซื้อให้คนในประเทศใช้ สุดท้ายเมอร์กแจกฟรีซะเลย อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เมอร์กไม่ได้ทำกำไรอย่างเดียว แต่ต้องการรักษาคุณค่าหลักของตัวเองด้วย คือ “การต่อสู้กับโรคร้าย เพื่อปกป้องมนุษยชาติ” อ่านแล้วขนลุกไหมครับ ว่าคุณค่าหลักของเมอร์ก ยิ่งใหญ่ขนาดไหน

มันก็เหมือนกับ Disney ที่ทำให้คนมีความสุข (คุณค่าหลัก) แล้วกำไร เดี๋ยวก็ตามมาเองครับ ผมว่าหลายๆ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้นนะครับ ส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าก่อน เดี๋ยวลูกค้าก็จ่ายเงินให้คุณเอง แต่ถ้าเมื่อใดเริ่มธุรกิจด้วยความคิดเรื่อง เงิน เงิน เงิน เป็นหลัก ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จครับ

เปลี่ยนได้ทุกอย่าง ยกเว้นคุณค่าหลัก

คุณค่าหลักขององค์กรเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ Walmart มีคุณค่าหลักคือ สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้ลูกค้า ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ แต่วิธีการสร้างความพึงพอใจ ก็อาจจะเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย หรือถ้าผมอธิบายแบบนี้น่าจะเห็นภาพกว่าคือ คุณค่าหลักของ Disney คือ สร้างความสุขให้ผู้คนทั่วโลก แต่วิธีการสร้างความสุขสามารถเปลี่ยนได้ ตั้งแต่ การ์ตูน ภาพยนตร์ สวนสนุก VR, metaverse, ai อะไรก็แล้วแต่ที่โลกนี้พัฒนาไป

กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

บริษัทแห่งวิสัยทัศน์ ไม่ใช่บริษัทที่อยู่ไปเรื่อยๆ แต่เป็นบริษัทที่ตัดสินใจได้เด็ดขาด กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง โดยยึดหลักว่าคิด คำนวณมาดีแล้วถึงผลลัพท์ต่างๆ (ไม่ใช่กล้าบ้าบิ่น ไปตายเอาดาบหน้านะครับ 55)

Boeing กล้าที่จะสร้างเครื่องบินเชิงพาณิชย์ (ทั้งๆ ที่เคยล้มเหลวมาแล้ว และยังมีคู่แข่งเจ้าตลาดอย่าง แมคโดนัลด์ ดักลาส) และสุดท้ายก็สำเร็จ

Sony สร้าง Sony Walkman ทั้งๆ ที่ตอนแรกก็มองไม่ออกหรอกว่าจะทำกำไรจากมันได้อย่างไร ให้ลองนึกภาพในขณะนั้นว่าวิทยุทรานซิสเตอร์นั้นใช้ต้นทุนสูงมาก แต่ในที่สุดก็ทำได้

มีแต่คนที่เหมาะสมกับองค์กร

บริษัท นอร์ดสตรอม นั้นเป็นบริษัทที่ทำงานกันอย่างเข้มข้น ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับคนที่ไม่ทุ่มเทเต็มร้อย บริษัทแห่งวิสัยทัศน์นั้นจะคัดเลือกคนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรเข้ามาทำงานเท่านั้น คนที่ไม่เหมาะสมจะถูกบีบออกไปเอง เพราะจะอยู่ไม่ได้

Disney ใช้วิธีสร้างสถาบัน สร้างศูนย์ฝึกอบรม เพื่อปลูกฝังแนวคิดให้พนักงาน โดยจะถูกปลูกฝังแนวคิด เช่น พนักงานทุกคนคือนักแสดง, ลูกค้าคือแขกพิเศษ เป็นต้น

ลองผิดลองถูกอยู่เสมอ

เพื่อนๆ คิดว่า โลกของเรานั้นถูกสร้างขึ้นมาโดยมีแผนการที่ชัดเจน หรือว่ามันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง คัดสรรอย่างช้าๆ ตามทฤษฎีของ ชาร์ลส ดาร์วินครับ ผมว่าน่าจะเป็นอย่างหลัง ซึ่งก็เหมือนกับการที่บริษัทลองผิดลองถูก และเลือกสรรเฉพาะสิ่งที่เวิร์กมาทำต่อ แต่แตกต่างกันที่ว่า ทฤษฎีเลือกสรรตามธรรมชาติ เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่กับบริษัทวิสัยทัศน์นั้น ตั้งใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้องค์กร

บริษัทส่วนใหญ่ ไม่ได้มีแผนที่ดีเด่นตั้งแต่แรก แต่มักจะเริ่มจากการลองผิดลองถูก จนได้มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม Johnson & Johnson คิดค้นผ้าก๊อซได้โดยบังเอิญ จากการได้รับ feedback จากแพทย์คนนึง แล้วเอามาปรับปรุงลองผิดลองถูก

การที่ Marriott ได้ลองสิ่งต่างๆ ทำให้บริษัทสามารถแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ได้เสมอ เหมือนตอนที่บริษัทสังเกตเห็นว่าสาขาหนึ่งที่สนามบิน มีลูกค้าชอบซื้ออาหารไปทานบนเครื่องบิน ดังนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ Marriott เปิดธุรกิจทำอาหารกล่องบนเครื่องบิน

3M มีนโยบายที่ให้อิสระแก่พนักงานในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ บนพื้นฐานหลักการที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อะไร ก็จะไม่ถูกมองข้าม สิ่งนี้กระตุ้นให้เกิดการลองผิดลองถูก โดยให้พนักงานเปรียบดังกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ และถ้ากิ่งไหนสามารถผลิดอกออกผล บริษัทก็จะอนุญาติให้โตอย่างเต็มที่

ผลักดันคนในองค์กรก่อน

บริษัทแห่งวิสัยทัศน์ มีแนวโน้มที่จะเลื่อนตำแหน่งจากคนในองค์กรมากกว่าที่จะเชิญคนจากภายนอกมาเป็นผู้บริหารระดับสูง

ก่อนที่ GE จะมีสุดยอดผู้นำอย่าง Jack Welch นั้น GE ได้วางรากฐานสร้างระบบ และออกคู่มือสำหรับผู้บริหารขึ้นมา เพื่อหาผู้สืบทอด โดยใช้การแข่งขันจากภายใน Jack welch ผ่านการคัดเลือกจากผู้เสนอชื่อทั้งสิ้น 92 คน

พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีคำว่า ดีพอ

แน่นอนครับ บริษัทถ้าไม่มีการปรับปรุง พัฒนาอะไรเลย ก็เหมือนเดินถอยหลัง บริษัทแห่งวิสัยทัศน์จะไม่มีทางอยู่นิ่งครับ P&G ครั้งหนึ่งเคยกังวลว่าบริษัทจะกลายเป็นบริษัททั่วๆ ไป ในอนาคต ดังนั้นพวกเขาจึงต้องคิดอค้นกลไกอะไรบางอย่างที่ทำให้บริษัทพัฒนาต่อไปได้ สิ่งนั้นก็คือ การสร้างแผนกต่างๆ โดยให้แผนกต่างๆ สร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแข่งกันเอง ซึ่งวิธีนี้ทำให้หลายๆ บริษัทนำไปทำตาม

สรุป

ก็น่าจะครบถ้วนสมบูรณ์ครับ ผมว่าหลักการส่วนใหญ่ ก็จะพ้องไปในทางเดียวกับหนังสือ Good to great แหละครับ แต่ความรู้สึกส่วนตัวผมอ่าน Good to great แล้วรู้สึกอินมากกว่า ผ่านเข้าใจง่ายกว่า เป็นรูปธรรมมากกว่า แต่โดยรวมแล้ว หลักการในหนังสือยังถือว่าเป็นอมตะจริงๆ ครับ