สรุปหนังสือ The power of input

,

หนังสือ The power of input หรือในชื่อภาษาไทยคือ “ศิลปะของการเลือก + รับ * รู้” เป็นหนังสือภาคต่อจาก The power of output ของผู้เขียนซึ่งเป็นจิตแพทย์ชื่อ ชิออน คาบาซาวะ ผมอ่านครั้งแรกแล้วเหมือนเปิดโลกการอ่านของผมเลยจริงๆ

ต้องขอบอกก่อนว่า ตัวผมเองนั้นเป็นนักซื้อหนังสือตัวยง แต่ไม่ค่อยจะได้อ่านกับเขาซักเท่าไหร่ ซื้อจนชนิดที่ว่าจำหนังสือตัวเองไม่ค่อยได้ และซื้อซ้ำอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเลยได้จัดทำฐานข้อมูลหนังสือที่ผมมี (ใช้ app ที่ชื่อว่า Handy library) ซึ่งตัวเลขจำนวนหนังสือทั้งหมดที่มีนั้น ทะลุพันเล่มไปเรียบร้อย!! (ชาตินี้จะอ่านหมดไหมเนี่ย ><)

มาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจ ในการเขียน Blog นี้ และผมตั้งใจว่าจะ input + output หนังสือทุกเล่มที่ผมอ่าน! หนังสือ The power of input นั้นชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญของการนำเข้าข้อมูลมาในหัวของเรา input อย่างไร และ output อย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ

ผมเป็นคนนึงที่แต่ก่อนเวลาอ่านหนังสือจะตะบี้ตะบันอ่าน จะอ่านเร็วๆ อ่านเน้นจบ ไม่เน้นรู้เรื่อง 55 พออ่านจบก็เหมือนจะไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่ และเดี๋ยวก็ลืม หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ (ซึ่งมันก็เป็น common sense อะนะ แต่เวลาทำจริงเรามักจะทำอีกแบบไง) Key สำคัญคือ “คุณต้องอ่านให้ได้คุณภาพก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มปริมาณ”

ต้องกรองข้อมูลที่จะรับ (input)

เคยเป็นไหมครับ เวลาอ่านหนังสือเล่มไหนแล้วไม่ค่อยอิน ไม่ค่อยเก็ต เหมือนไม่ค่อยได้อะไร แต่ก็ยังคิดว่าควรจะต้องอ่านจนจบ ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องอ่านต่อก็ได้ ถ้าคิดว่ามันไม่ใช่ หนังสือเล่มนี้บอกว่า เราต้องกล้าทิ้งข้อมูลที่ไม่จำเป็น ข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ ผู้เขียนได้ใช้คำว่า ให้ตั้งเสาอากาศ เพื่อกรองและรับข้อมูลที่เราสนใจ เช่น อย่างผมสนใจในเรื่องธุรกิจ การลงทุน ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เวลามีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ หูของผมก็จะผึ่ง ตาของผมก็จะถ่างออกโดยอัตโนมัติ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องที่สนใจ ก็มักจะไม่ได้ยิน ไม่เห็น (ทั้งๆ ที่อาจจะอยู่ตรงหน้า)

หนังสือเล่มนี้ยังบอกอีกว่า การเลือกหนังสือมาอ่านนั้น บางทีนั้นสำคัญกว่าการตั้งใจอ่านด้วยซ้ำ หมายความว่า การเลือกหนังสือนั้น เป็นต้นทางของ input ถูกไหมครับ ถ้าเราเลือกหนังสือไม่ดี และเสียเวลาอ่านไปแล้ว ก็อาจจะเสียเวลาไปฟรีๆ ก็ได้

Input จะสำเร็จก็ต่อเมื่อเราจำได้

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราจำได้คือ การอ่านให้ละเอียด และการแตกประเด็น เช่น สมมุติผมอ่านหนังสือเล่มนี้รอบแรก อาจจะยังจับใจความได้ไม่หมด ผมก็จะไปฟังคลิปใน Youtube ที่มีการพูดถึงหนังสือเล่มนี้ ในลักษณะสรุปบ้าง, Discuss ประเด็นกันบ้าง นั่นทำให้สมองของผมซึ่งมีข้อมูลดิบจากการอ่านหนังสือ มีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมฟังจาก Youtube ซึ่งเป็นการ input ซ้ำ ทำให้ผมเข้าใจในประเด็นที่หนังสือต้องการสื่อได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมพบว่า วิธีนี้เวิกมากๆ สำหรับผม หนังสือยังบอกอีกว่าเราจะจำเรื่องไหนได้ดี เรื่องนั้นต้องมีอารมณ์ร่วม สังเกตว่าเรามักจะจำเนื้อหาของภาพยนตร์ได้ดี แม้จะดูมานานแล้ว เพราะเรามีอารมณ์ร่วมกันมันนั่นเอง

วิธีการวัดว่า เราทำ input ได้ดีแค่ไหน ให้เราลอง output ออกมาว่า เราสามารถสรุปสิ่งที่เราอ่านได้หรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ แสดงว่าเราควรจะต้องกลับไปอ่านซ้ำ อ่านเพิ่มเติม

ตั้ง output ล่วงหน้าก่อนที่จะ input

เช่น ก่อนจะเริ่มอ่านหนังสือ ให้ตั้งเป้าก่อนเลยว่าอ่านไปเพื่ออะไร และ output ที่เราตั้งควรจะเป็น output ที่สร้างแรงกดดันภายในจิตใจซักหน่อย เช่น ตั้งเป้าจะ output ว่าจะอ่านเพื่อจะไปสอน หรือไปพูดคุย รีวิว สรุปในช่อง Youtube เราจะตั้งใจอ่าน ตั้งใจจับประเด็นมากกว่า เพราะว่าถ้าอ่านไม่ดี ไม่ละเอียด เราจะกลัวว่าจะไปสอนคนอื่นไม่ได้ หลักการนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า

If you can’t explain it simply, you don’t understand it well enough.

ถ้าคุณเองยังอธิบายมันออกมาแบบเข้าใจง่ายๆ ไม่ได้ แสดงว่าคุณเองนั่นแหละยังไม่เข้าใจในเรื่องนั้นดีพอ

ให้ทำ output ทันทีหลังจาก input

คุณเคยลองอ่านหนังสือจบเล่มแล้ว รู้สึกประทับใจ จำเนื้อหาได้ แต่พอผ่านไปอาทิตย์นึง ก็ลืมแล้วไหมครับ นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าคุณไม่ได้เอาเนื้อหาในหนังสือนั้นไปใช้เลย พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้ทำ output เลย ดังนั้นการจะทำให้การอ่าน การฟัง เกิดประโยชน์สูงสุด พูดง่ายๆ คือ ไม่เสียเวลาเปล่าคือ คุณต้องพยายามทำ output ทันที ต้องจดบันทึกทันที ต้องสรุปทันที

เทคนิคต่างๆ จากหนังสือเล่มนี้ The power of input

ในหนังสือเล่มนี้ มีเทคนิคต่างๆ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผู้เขียนแนะนำให้ทำเพื่อให้การทำ input ดีขึ้น ซึ่งมีคำแนะนำเยอะมากๆ เพื่อนๆ ต้องลองไปอ่านเองดี ส่วนผมจะสรุปเฉพาะข้อที่ผมคิดว่าเหมาะกับตัวผม และน่าจะได้ใช้ก็แล้วกันครับ

  1. การเรียนรู้มีลำดับขั้นตอน ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากการอ่าน เป็นบันไดขั้นแรก และค่อยๆ ขยับไปฟัง เช่นฟังสัมมนา ซึ่งจะได้รับข้อมูลที่ลึกกว่า การเรียนรู้ต้องเริ่มจากเบสิกพื้นฐานของเรื่องนั้นๆ แล้วค่อยขยับไปเรื่องยาก อย่าเรียนรู้ข้ามขั้นตอน
  2. การอ่านหนังสือ 3 เล่ม + ทำ output นั้น ดีกว่าการอ่านหนังสือ 10 เล่ม แต่ไม่ได้ทำอะไรต่อจากนั้นเลย
  3. การอ่านหนังสือแบบ scan เนื้อหาก่อนในรอบแรก เพื่อให้รู้โครงสร้าง และเนื้อหาโดยรวมของหนังสือ จะทำให้เราอ่านหนังสือ และจับใจความได้ดีขึ้น และรวดเร็วขึ้น
  4. การฟังสัมมนาสด จะได้รับทั้งข้อมูลทั้งที่เป็นถ้อยคำ และข้อมูลที่ไม่ใช่ถ้อยคำ (สีหน้า ท่าทาง) ซึ่งจะทำให้กระตุ้นอารมณ์และจำเนื้อหาได้ดีกว่าการอ่าน
  5. การฟังบรรยาย ไม่ควรตะบี้ตะบันจดโน๊ตทุกคำพูด ทุกตัวอักษร ควรจดเฉพาะประเด็นสำคัญที่เราเข้าใจ ผมเป็นคนนึงที่แต่ก่อนจะตะบี้ตะบันจด อยากจะเก็บทุกเม็ด ไม่อยากพลาดประเด็นไหนเลย แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่า การทำแบบนั้นสุดท้าย เราจะจับประเด็นอะไรไม่ได้เลย
  6. สมองสามารถจดจำและจัดการสิ่งต่างๆ พร้อมกันไม่เกิน 3 อย่าง อย่าพยายามจัดการมากกว่านี้ สมองจะรับไม่ไหว และจะลืมทุกอย่าง
  7. ในกรณีที่มีเรื่องต้องทำมากกว่า 3 อย่าง ให้ทำทีละ 3 อย่าง พอทำเสร็จแล้ว ค่อยเริ่มทำอีก 3 อย่าง
  8. เตรียมคำถามล่วงหน้า ก่อนการฟังบรรยาย จะทำให้เรามีเป้าหมายว่าจะฟังไปเพื่ออะไร วิธีนี้ผมใช้อยู่เป็นประจำ ในการศึกษาหาข้อมูลการลงทุนทุกไตรมาส ทางบริษัทจดทะเบียนที่เราถือหุ้นอยู่จะมาบรรยายสรุปผลการดำเนินงานใน Opportunity day ซึ่งผมมักจะลิสคำถามที่สงสัย และส่งคำถามไปก่อนการฟังเสมอ
  9. สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดได้ดีว่า เราฟังบรรยาย เข้าใจหรือไม่คือ เราสามารถตั้งคำถามจากที่เราฟังได้ไหม ถ้าตั้งคำถามได้ แสดงว่าเราฟังแล้วเราเข้าใจ และรู้ว่าเราไม่เข้าใจอะไร จึงถาม
  10. การจดสมุดบันทึกมีประโยชน์ 2 อย่างคือ 1). บันทึกไว้กันลืม กับ 2). บันทึกเพื่อเป็นไอเดียต่อยอด โดยวิธีใช้สมุดบันทึก ผู้เขียนแนะนำให้กลับมาดู เวลาต้องการไอเดียใหม่ๆ แล้วคิดไม่ออก และให้จัดระเบียบข้อมูลที่เราจดทุกๆ 2-3 เดือน โดยในขณะที่เราจัดระเบียบสมองเราจะทำการเชื่อมโยงข้อมูลทุกอย่างที่เราจดไว้โดยอัตโนมัติ
  11. ให้ทำระบบจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ เป็นศูนย์รวมข้อมูลที่เราสามารถเข้าไปใช้ ไปหยิบได้ง่าย ตรงนี้บางคนก็อาจจะเก็บเป็น bookmark บางคนแชร์เก็บไว้ใน facebook หรือบางคนอาจจะเซฟ screenshot เก็บไว้ในโฟลเดอร์ อันนี้ก็แล้วแต่ว่าใครถนัดแบบไหน
  12. การบันทึกข้อมูล หรือการอ่านหนังสือหลายๆ เล่ม ที่เกี่ยวข้องกัน แล้วเว้นช่วงระยะเวลาไว้ บางทีสมองเราอาจจะประมวลผลเอง และกลายเป็นไอเดียใหม่ๆ ได้จริง เราเรียกกระบวนการนี้ว่า การฟักไข่ อันนี้จากประสบการณ์ตรงผมเป็นบ่อยเลยครับ บางทีเราเก็บรวบรวมข้อมูลมาเยอะๆ สมองยังจัดระเบียบไม่ทัน แล้วเหมือนมันจะตื้อๆ ยังคิดอะไรไม่ออก เดี๋ยวนั้น พอไปทำอย่างอื่นซักระยะให้เพลิน กลับคิดออก และแก้ปัญหาที่ติดค้างได้อย่างไม่น่าเชื่อ

น่าจะครบถ้วนทุกประเด็นที่ผมต้องการจะสรุปแล้วในหนังสือ The power of input ส่วนหนังสือเล่มต่อไป จะเป็นเล่มไหนไปไม่ได้ นอกเสียจาก The power of output นี่เอง โปรดติดตามตอนต่อไป