สรุปหนังสือ The power of output

,

วันนี้ผมจะมาลองทำ output โดยการสรุปหนังสือ The power of output ให้เพื่อนๆ อ่านกันนะครับ

หนังสือเล่มนี้ ทีเนื้อหาที่หลากหลายครอบคลุมในหลายๆ มิติมากๆ ครับ เรียกได้ว่า ใครที่อ่านก็จะสามารถหยิบเทคนิคต่างๆ ไปใช้ได้ ไม่มากก็น้อย โดยหลักๆ โครงสร้างของเนื้อหา จะเป็น

  1. กฎของการทำ output
  2. การทำ output โดยการพูด
  3. การทำ output โดยการเขียน (เหมือนที่ผมกำลังทำอยู่ ตอนนี้)
  4. การทำ output โดยการลงมือทำ

หลักการที่สำคัญที่สุดที่หนังสือเล่มนี้ต้องการจะบอกคือ การทำ input เสร็จแล้ว ต้องทำ output ทันที และพอทำ output เสร็จก็หา feedback เพื่อปรับปรุง พัฒนา วนลูปไปเรื่อยๆ ให้เป็น “บันไดวนแห่งการพัฒนา” แล้วเราจะเป็นคนที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบครับ

ประเด็นสำคัญครับ ผมขอแยกย่อยเป็น 2 ประเด็น คือ

  1. ถ้าเราทำ input อย่างเดียว อ่านอย่างเดียว ฟังอย่างเดียว ข้อมูลที่รับมา ไม่ได้นำออกมาใช้เลย (ไม่ได้ output ออกมา) ไม่นานก็ลืม
  2. ถึงแม้เราจะทำ output แล้ว เช่นแบบที่ผมมาเขียนบล๊อกโพสสรุปให้เพื่อนๆ อ่าน แต่ถ้าผมทำโดยไม่ได้รับ feedback เลย ไม่ได้รับ comment จากเพื่อนๆ เลย ผมจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ผมทำ มันดีแล้วหรือยัง

ดังนั้นการจะทำเกิดการพัฒนาได้ ต้องเกิดจากการ input แล้ว output ออกมา และได้รับ feedback ปรับปรุงพัฒนาวิธีการต่างๆ ไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดการพัฒนาขึ้น แม้ทีละเล็กละน้อย แต่ผมเชื่อว่า ถ้าผมทำแบบนี้อีกซัก 100 เล่ม ผมเก่งขึ้นแน่นอน

ทำไมเราถึงต้องทำ output ? อ่านอย่างเดียวไม่พอหรอ

การ output เช่น การพูด, เขียน หรือ ลงมือทำ ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่ต้องขยับร่างกายทั้งสิ้น ซึ่งสมองจะเกิดการทำงาน และจะเกิดเป็นความจำกล้ามเนื้อ (จำได้ดีกว่า) โดยเริ่มแรกเมื่อเราอ่านหนังสือ ข้อมูลจะเก็บไว้ในสมองเป็นข้อมูลชั่วคราวใน “ฮิปโปแคมปัส” ซึ่งจะจำได้ราวๆ 2-4 สัปดาห์ โดยระหว่างนี้หากมีการใช้ข้อมูลซ้ำๆ คือ output ออกมานั่นเอง สมองจะคิดว่านี่คือข้อมูลที่สำคัญ แล้วจะส่งข้อมูลนี้ไปเก็บที่ความจำระยะยาวที่กลีบขมับ ดังนั้นสาเหตุที่เราต้องทำ output ก็คือ จะทำให้เราจำได้ยาว และใช้ข้อมูลที่รับมาให้เป็นประโยชน์สุดๆ นั่นเอง

แล้วการทำ output แบบไหนหละที่ดีที่สุด

เพื่อนๆ คิดว่าการ output โดยการ เขียนบทความสรุป, การเขียนรีวิว หรือการสอน ให้ผลลัพท์ที่ดีที่สุด คำตอบก็คือ การสอนครับ ทำไมหนะหรอ ลองนึกตามนะครับ ถ้าเพื่อนๆ ไม่เข้าใจเนื้อหาจริงๆ เพื่อนๆ คิดว่าจะสอนคนอื่นได้ไหมครับ อาจจะได้ แต่คงไม่ราบรื่น และถ้ามีใครถามอะไรขึ้นมา อาจจะตอบไม่ได้ก็ได้ ส่วนตัวผมมีประสบการณ์ตรงตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมพบว่าการทำหน้าที่สอนหรือติวเพื่อนๆ ในวิชาที่เราถนัด ไม่เพียงแต่จะทำให้เพื่อนเข้าใจแล้ว แต่เรามักจะเข้าใจเนื้อหานั้นๆ ในมุมลึกขึ้นไปอีกขั้น บางทีคำถามของเพื่อนที่ถามเรามาบางอย่าง ก็เปิดมุมมองแบบที่เราไม่เคยคิดถึงประเด็นนี้ เราก็จะกลับไปหาคำตอบเพิ่มเติมว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น เป็นต้น ดังนั้น การสอนนั้น แทบจะเป็นกิจกรรมเดียวที่ผมนึกออก ที่เราจะมีทั้ง input/output/feedback ในเวลาเดียวกัน

ระหว่าง output แบบ พูด, เขียน, ลงมือทำ ควรทำอะไร

จริงๆ แล้วเพื่อนๆ สามารถทำ output ได้หลายแบบ การอ่านหนังสือแล้วมาสรุปแบบผม ก็เรียกว่าเป็นการเขียน หรือผมอาจจะเอาเนื้อหาตรงนี้ไปพูดให้เพื่อนฟังใน Youtube แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลงมือทำครับ ถ้าเกิดผมอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วเพียงแค่ผมจดๆ เขียนๆ แต่ไม่ได้เอามาปรับใช้ เอามาใช้งานจริงๆ สุดท้ายสิ่งที่จดๆ เขียนๆ หรือแม้แต่โพสบทความนี้ ก็คงจะไม่ได้ประโยชน์อะไรกับชีวิตผมเลยจริงๆ ดังนั้น นี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจเลยครับว่าจะนำหลักของหนังสือ ทั้ง The power of input/output มาปรับใช้ลงมือทำในอนาคตเสมอ

ทำอย่างไรดี อยากจะทำ output แต่สุดท้าย ไม่ได้เริ่มซักที

รู้ไหมครับ ผมซื้อหนังสือ the power of input และ the power of output มาดองไว้นานขนาดไหน กว่าจะเริ่มอ่าน – น่าจะเป็นปี! ผมได้คิดแต่ว่า เอาไว้ก่อน หรือบางทีก็คิดว่า มันเป็นเรื่องเบสิกมั้ง อ่านแล้วก็มาเขียนสรุป เนื้อหาในหนังสือคงไม่มีอะไรมากมาย แต่เพราะคิดแบบนี้แหละครับ เลยไม่ได้เริ่มซักที หนังสือเล่มนี้บอกแบบง่ายๆ เลยว่า การเริ่มลงมือทำ ก็คือ เหมือนการหลับหูหลับตาเริ่มไปเลย ไม่ต้องคิดเยอะ แล้วพอทำไปได้ซัก 5 นาที “สวิทช์แห่งความตั้งใจ” ของเราจะเปิดเอง และเราจะทำมันต่อไปได้เรื่อยๆ เอง แม่งโคตรจริงเลยครับ สำหรับผม หลายๆ ครั้งการที่ผมคิดจะเริ่มทำอะไร ผมมักจะคิดเยอะ และสุดท้ายไม่ได้เริ่ม แต่เมื่อใดก็ตามที่ผมหลับหูหลับตาเริ่ม และค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันไปได้ไกลเอง มองย้อนไป ธุรกิจหลักที่ผมทำอยู่ ก็เริ่มมาจากแบบนี้แหละครับ ไม่ได้เริ่มจากการเป็นธุรกิจ แต่เริ่มจากการทำในกลุ่มเล็กๆ จนขยายวง และค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็มาไกลแล้ว

การคาดหวังว่าจะทำอะไรที่มัน perfect เลยตั้งแต่แรก อาจจะเป็นตัวฉุดให้เราทำงานนั้นไม่เสร็จเลยก็ได้นะครับ หนังสือเล่มนี้แนะนำว่า ให้ทำแบบไม่ต้องตั้งเป้าหมายว่าจะ perfect โดยอาจจะตั้งแค่ว่าได้ 30% ฉันก็ดีใจแล้ว และพอทำได้ ก็ปรับปรุงแก้ไขให้มันได้ 50% จนสุดท้าย เดี๋ยวมันอาจจะ perfect 100% จริงๆ ก็ได้

ไม่มีเวลาเลยครับทำอย่างไร?

ผมเป็นคนหนึ่งที่เป็นมนุษย์พ่อที่เลี้ยงลูกแบบเต็มเวลา ไม่ได้มีงานประจำ ดังนั้นเวลาจะเหลือน้อยมากๆ (จะทำงานได้เต็มที่ก็คือตอนลูกหลับ) แรกๆ ผมจะหงุดหงิดมากเวลางานที่ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะทำ progress ของงานมันช่างช้าเหลือเกิน ผมเลยใช้วิธีทำมันหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน คือ Multitask หูก็ฟัง Youtube หาข้อมูลลงทุน ตาก็อ่าน Annual report และพอมารู้ตัวอีกทีก็พบว่า สุดท้ายเราเก็บสาระสำคัญในสิ่งที่เราฟัง เราอ่าน ไม่ได้เลย ดังนั้นสุดท้ายเวลาก็เสียไปเปล่าประโยชน์ เพิ่งมารู้ตอนหลังว่า สมองนั้นทำงาน Multitask ไม่ได้ ตามที่หนังสือเล่มนี้บอกไว้ การที่เราเหมือนจะทำงานหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน จริงๆ แล้วเป็นการที่สมองทำงานสลับไปสลับมา แต่ถ้างานนั้นต้องใช้สมาธิมาก การสลับไปมาของสมองจะช้ามาก ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นงานที่ผมจะใช้ Multitask ได้จริงๆ และทำให้งานเร็วขึ้น จะต้องเป็นงานแบบไม่ได้ใช้ความคิดเยอะ 2 งานพร้อมกัน

บ่นมาซะยาวเรื่องไม่มีเวลา เข้าประเด็นเลยนะครับ ก่อนอื่นต้องถามว่า ทั้งวัน คุณสามารถหาเวลาซัก 15 นาทีได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรงหรอกใช่ไหมครับ หนังสือบอกว่าให้ใช้แค่ Gap 15 นาทีนี่แหละ แต่เป็น 15 นาทีที่คุณ focus ในการทำ output อย่างเต็มที่ ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่าการใช้เวลา 60 นาทีแต่ focus น้อยกว่าแน่นอน นี่น่าจะเป็นหลักการเดียวกับหลักบริหารเวลาที่เค้าว่าต้องซอยเวลาย่อยๆ เช่น 5 นาที 15 นาที แล้วพยายามทำงานให้ได้ในกรอบเวลาที่กำหนด ภาพด้านล่าง เป็นภาพจากในหนังสือที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

นอกจากนี้ สิ่งที่จะทำให้เราทำงานในแต่ละวันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีเวลามากขึ้นคือ การทำ To-Do list ซึ่งผู้เขียนบอกว่าเป็นงานที่สำคัญที่สุด ประโยชน์ของมันมีด้วยกัน 4 ข้อ

  1. มองเห็นภาพรวมของการงานทั้งวัน – จะต้องทำอะไรเวลาไหนบ้าง
  2. ทำให้การทำงานของเราต่อเนื่อง ไม่เสียสมาธิ – เวลาทำงานเสร็จอย่างนึง ไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะทำอะไรต่อ เพราะเราคิดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว การมานั่งคิดนั้นทำให้เราเสียเวลา และต้องมาทำสมาธิสำหรับการทำงานต่อไปใหม่อีกด้วย
  3. ลดความผิดพลาด เช่น การลืมนัด การลืมทำอะไรบางอย่าง ในเมื่อเราจดใส่ To-do list แล้ว โอกาสผิดพลาดจะน้อยหรือแทบไม่มีเลย
  4. เพิ่ม working memory และประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะเนื่องจาก พอเรากำหนด scope งานชัดเจนในแต่ละวัน เราก็จะทำงานเรียงกันไปเรื่อยๆ ไม่เอางานมาซ้อนกัน โดยการทำงานซ้อนกันเยอะๆ (เพราะเรากลัวว่าจะทำไม่ทัน) สมองอาจจะรับไม่ไหว และสมองอาจจะค้างไปเลยก็ได้ คิดอะไรไม่ออก

กฎในการทำ To-do list ผู้เขียนได้สรุปมา 3 ข้อคือ 1. ต้องเขียนหรือพิมพ์ใส่กระดาษ 2. วางไว้บนโต๊ะทำงานให้เห็นชัด และ 3. พอทำงานเสร็จให้ขีดฆ่าเพื่อให้เรารับรู้ถึงความสำเร็จ

ทำ Feedback อย่างไรให้ได้ผลดี

หนังสือเล่มนี้ แนะนำหลักการทำ feedback ไว้ 4 อย่างดังนี้

  1. แก้ไขข้อด้อย และพัฒนาข้อดี เช่น ถ้าเราอ่านหนังสือตรงไหนยังไม่เข้าใจ เราจะอธิบายมันได้ไม่ดี ดังนั้นเราต้องแก้ไขข้อด้อย โดยการกลับไปอ่านซ้ำ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติม ศึกษาเพิ่มเติมจนกว่าจะเข้าใจมันจริงๆ
  2. เรียนรู้ให้กว้าง และเจาะลึกในเรื่องที่สนใจ เราอาจจะมีความสนใจที่หลากหลาย เราสามารถเรียนรู้ได้ กว้าง อย่างผมนี่สนใจในด้านธุรกิจ การลงทุน การตลาด ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ผมก็อ่านหมด แต่ถ้าเมื่อไหร่เราสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ ก็จะหาหนังสืออ่านเจาะลึกๆ ประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะ
  3. ตั้งคำถามว่าทำไม การตั้งคำถามจะทำให้สมองเราทำงานโดยการค้นหาคำตอบ หาข้อมูลเพิ่มเติม
  4. ให้คนอื่น comment หรือแนะนำ เช่น การที่ผมโพสบทความนี้ ก็เพื่อให้เพื่อนๆ อ่านและ comment กันเข้ามาได้ว่าคิดเห็นอย่างไร

จะทำ output อย่างไรให้สำเร็จ

คำตอบเดียวคือ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง การที่เราจะทำอะไรให้สำเร็จ ไม่ว่าอะไรก็ตาม เราหนีไม่พ้นว่าเราต้องทำมันต่อเนื่องมากพอจนเกิด impact ขึ้นมา อย่าตั้งเป้าที่ใหญ่เกินไป เป้าที่ดูแล้วท้อแท้ แต่ให้ซอยเป้าหมายในลักษณะ “ยากเล็กๆ” คือมีความยากแต่มัน archivable พอเราทำมันได้ เราจะภูมิใจ โดพามีนจะหลั่ง และเราจะอยากทำมันต่อไปเรื่อยๆ เมื่อไหร่ที่ทำงานหนึ่งๆ สำเร็จ ให้บันทึกความสำเร็จของงานไว้เป็นกำลังใจ และให้รางวัลกับตัวเองซักเล็กน้อย ส่วนตัวผมนั้น ได้นำหลักนี้มาปรับใช้เต็มๆ หนังสือในชั้นของผมมีเป็นพันๆ เล่มครับ ถ้าผมตั้งเป้าว่าจะอ่านให้หมดภายใน ปีนี้ ปีหน้า แน่นอนว่า ท้อตั้งแต่ยังไม่เริ่มแน่นอน และด้วยเวลาที่จำกัด เป้าหมายผมจริงเป็นเป้าหมายหลวมๆ ว่าผมจะอ่านทีละเล่ม และโพสบทความหลังจากอ่านทุกเล่ม เพื่อเป็นการ output โดยคร่าวๆ ผมอาจจะอ่านได้ซักเดือนละ 3-5 เล่ม ผมก็พอใจแล้ว ทั้งหมดนี้สามารถอธิบายได้โดยภาพด้านล่าง

เมื่อเราตัดสินใจก้าวออกจาก comfort zone มาเรียนรู้อะไรใหม่ซักเรื่อง เราได้ก้าวเข้ามาอยู่ใน learning zone แล้ว แต่ถ้าเราตั้งเป้าในการเรียนรู้ที่ยากเกินไป จะทำให้เราท้อแท้และกลัวสุดท้าย เราจะเข้าไปอยู่ใน danger zone คือ อยากเลิก ไม่ทำแล้ว ยากจังเลย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การพยายามที่จะอยู่ใน learning zone ให้ได้ และไม่ตกไปอยู่ danger zone โดยการตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ที่ท้าทาย ที่เรารู้สึกสนุก และทำมันได้ และเราจะภูมิใจ และทำมันได้เรื่อยๆ ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก

เทคนิค และข้อมูลที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้

  • การตั้งคำถามล่วงหน้า ก่อนจะอ่านหนังสือ (input) จะช่วยให้สมองเกิดสมาธิเลือกสรร และหาคำตอบมาได้
  • จากงานวิจัยพบว่า การเขียนด้วยมือนั้นให้ผลดีกว่าการพิมพ์มาก สมองบริเวณโบรคาซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาจะทำงานเฉพาะเวลาเขียนเท่านั้น
  • ระหว่างการอ่านหนังสือ ควรจดแทรกในหนังสือไปเลยในสิ่งที่ค้นพบ หรือนึกขึ้นได้ ถือเป็นการทำ output ทันที
  • เทคนิคการเขียนบทความให้เร็วคือ กำหนดกรอบระยะเวลา และร่าง outline คร่าวๆ ไว้ ซึ่งจะทำให้เขียนได้เร็วขึ้น 3-4 เท่า
  • หากค้นพบอะไร (Aha moment) ให้รีบจดโน๊ตทันทีภายใน 30 วินาที หรือไม่เกิน 1 นาที ไม่งั้นจะลืมได้
  • การเหม่อลอย เหมือนจะไม่ดี แต่จริงๆ แล้วการคิดค้นไอเดียต่างๆ ต้องอาศัยการเหม่อลอย เพราะการเหม่อลอย จะทำให้ Default mode network ของสมองทำงาน ซึ่งในโหมดนี้ สมองจะทำงานมากกว่าปกติถึง 15 เท่า และไอเดียก็มักจะออกมาในช่วงเวลานี้
  • บางทีในการรวบรวมข้อมูล เราอาจจะเขียนใส่การ์ดเยอะๆ หลายๆ ใบ แล้วเราก็จัดหมวดหมู่ข้อมูล เพื่อให้เห็นภาพรวมของข้อมูล ทำให้เราจัดระเบียบความคิดได้
  • เทคนิคการจดโน๊ตที่ผู้เขียนแนะนำคือ จดรวมทุกอย่างไว้ในเล่มเดียว ไม่ต้องแยกประเภท แยกเล่ม เพราะถ้าแยก สุดท้ายจะหาไม่เจอ, ให้จดเฉพาะสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่จดละเอียดยิบทุกอย่าง และ จดสิ่งที่ค้นพบ 3 เรื่อง และคิด To-do 3 ข้อจากสิ่งที่ค้นพบ นำไปลงมือทำต่อ จะทำให้การจดโน๊ตนี้ไม่เสียเปล่า
  • ถ้าเราสามารถสรุปความของข้อมูลที่รับมาได้ใน 140 ตัวอักษรแสดงว่าเรามีความสามารถในการใช้ความคิด
  • การอธิบายด้วยคำพูด + ภาพ จะทำให้เราจำง่ายกว่าการอธิบายด้วยคำพูดอย่างเดียว
  • Template ของการรีวิวหนังสือ คือ Before + สิ่งที่ค้นพบ + to do หมายความว่า ก่อนอ่านหนังสือเป็นอย่างไร หลังอ่านแล้ว ค้นพบอะไร และจะเอาไปใช้ ไปลงมือทำอย่างไร

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ นะครับ ฝากติดตามกันด้วยนะครับว่าบทความต่อไปจะเป็นหนังสือเล่มไหน